ปัญญาประดิษฐ์
(Artificial
Intelligence)
เป็นเครื่องจักรกลอัจฉริยะที่สร้างจากความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์
วิศวกรรมศาสตร์
รวมทั้งความฉลาดทางด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์
ตัวอย่างที่ใช้แพร่หลายเช่น เครื่องคิดเลข หรือคอมพิวเตอร์
และยังมีการพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาใช้ในปัจจุบันและจะแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต
การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนต่าง
ๆ
ของไทยก็ได้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้แฝงอยู่ในการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม ซึ่งนักเรียนจะได้ฝึกการนำความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ไปใช้กับพื้นฐานที่มีอยู่ทางฟิสิกส์ คณิตศาสตร์ ในรูปแบบของการทำโครงงานคอมพิวเตอร์ต่าง
ๆ และแม้แต่การสร้างและเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์
โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนผลักดันส่งเสริมการเรียนการสอนด้านนี้อยู่มาก
ครูฉัตรชัย นาสถิตย์ ครูชำนาญการ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี เป็นหนึ่งใน “วิทยากรแกนนำ สาขาคอมพิวเตอร์” ของ
สสวท.ที่ร่วมบุกเบิกการปลูกฝังให้นักเรียนเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ควบคู่กับการทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และกล่องสมองกล
ซึ่งคุณครูฉัตรชัย บอกว่า การส่งเสริมให้นักเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น
ครูไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญ เพียงแต่ต้องมีความตั้งใจจริง รู้แนวทาง
หรือรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ
ไปพร้อมกับนักเรียน ซึ่ง “หุ่นยนต์ หรือชุดกล่องสมองกล”
เป็นสื่อดึงดูดใจอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียนได้มาก
ทำให้รักที่จะเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมกับการได้เล่นอย่างสร้างสรรค์
“ครูเป็นคนชอบเรียนรู้ และทดลองทางอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์
จนทำให้มีความรู้ เมื่อมาพบกับเด็ก ๆ
ที่เรียนไม่ค่อยเก่งนักก็จะชักชวนแนะนำให้หันมาศึกษาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
โดยให้เหตุผลกับเด็กเหล่านั้นว่า เป็นการทำสิ่งที่คนอื่นในรุ่นเดียวกันทำไม่ได้
และยิ่งเห็นเด็กที่เข้าร่วมแข่งขันในโอกาสต่าง ๆ
ได้รับรางวัลกลับมามากมายก็ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ เห็นว่ากิจกรรมด้านคอมพิวเตอร์จะบังเกิดผลกับนักเรียนโดยตรง
จึงทุ่มเทให้เต็มที่ ถือว่าเป็นการแทนคุณแผ่นดินเกิด” ครูฉัตรชัย
กล่าว
สำหรับผลงานที่ผ่านมา
ครูฉัตรชัยเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนที่เข้าแข่งขันหุ่นยนต์ แข่งขันโครงงานต่าง
ๆ จนได้รับรางวัลทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศหลายครั้งหลายหน
ในขณะเดียวกันครูฉัตรชัยก็ได้รับรางวัลข้าราชการตัวอย่างระดับอำเภอ
รางวัลครูผู้สอนซึ่งมีผลงานดีเด่น (Best Practice) แต่ถึงจะใช้ชีวิตกับสิ่งของไฮเทค
แต่ก็อยู่อย่างสมถะ ซึ่งครูฉัตรชัยย้ำว่าไม่ได้ยึดติดกับลาภยศ หรือรางวัล
แต่สิ่งที่นับว่าภาคภูมิใจที่สุดคือการได้เห็นนักเรียนประสบความสำเร็จมากกว่า
ผลจากความทุ่มเทของคุณครูท่านนี้ ส่งผลให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย
ซึ่งเป็นผลผลิตจากการจุดประกายให้มีใจรักด้านการเขียนโปรแกรมต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไป
โดยเข้าศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ วิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์
และคอมพิวเตอร์ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ
ซึ่งลูกศิษย์บางส่วนเหล่านี้ก็ได้กลับมาที่โรงเรียนเพื่อเป็นพี่เลี้ยงส่งต่อความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องอีกด้วย.
สินีนาฎ
ทาบึงกาฬ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น