วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สร้างนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์

 ปัญญาประดิษฐ์
(Artificial Intelligence)
             เป็นเครื่องจักรกลอัจฉริยะที่สร้างจากความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ รวมทั้งความฉลาดทางด้านโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ตัวอย่างที่ใช้แพร่หลายเช่น เครื่องคิดเลข หรือคอมพิวเตอร์ และยังมีการพัฒนาหุ่นยนต์ขึ้นมาใช้ในปัจจุบันและจะแพร่หลายมากขึ้นในอนาคต 
              การจัดการเรียนรู้ในโรงเรียนต่าง ๆ ของไทยก็ได้มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้แฝงอยู่ในการเรียนการสอนวิชาคอมพิวเตอร์เกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม  ซึ่งนักเรียนจะได้ฝึกการนำความรู้ด้านการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ไปใช้กับพื้นฐานที่มีอยู่ทางฟิสิกส์ คณิตศาสตร์  ในรูปแบบของการทำโครงงานคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ และแม้แต่การสร้างและเขียนโปรแกรมควบคุมหุ่นยนต์ โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีส่วนผลักดันส่งเสริมการเรียนการสอนด้านนี้อยู่มาก
               ครูฉัตรชัย  นาสถิตย์ ครูชำนาญการ โรงเรียนพรหมานุสรณ์ จ.เพชรบุรี เป็นหนึ่งใน วิทยากรแกนนำ สาขาคอมพิวเตอร์ของ สสวท.ที่ร่วมบุกเบิกการปลูกฝังให้นักเรียนเรียนรู้การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ควบคู่กับการทำโครงงานสิ่งประดิษฐ์เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ และกล่องสมองกล ซึ่งคุณครูฉัตรชัย บอกว่า การส่งเสริมให้นักเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ครูไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญ เพียงแต่ต้องมีความตั้งใจจริง รู้แนวทาง หรือรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และพร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ไปพร้อมกับนักเรียน ซึ่ง หุ่นยนต์ หรือชุดกล่องสมองกล”  เป็นสื่อดึงดูดใจอย่างหนึ่งที่ช่วยกระตุ้นความสนใจของนักเรียนได้มาก ทำให้รักที่จะเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ พร้อมกับการได้เล่นอย่างสร้างสรรค์ 
                “ครูเป็นคนชอบเรียนรู้ และทดลองทางอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จนทำให้มีความรู้ เมื่อมาพบกับเด็ก ๆ ที่เรียนไม่ค่อยเก่งนักก็จะชักชวนแนะนำให้หันมาศึกษาการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยให้เหตุผลกับเด็กเหล่านั้นว่า เป็นการทำสิ่งที่คนอื่นในรุ่นเดียวกันทำไม่ได้ และยิ่งเห็นเด็กที่เข้าร่วมแข่งขันในโอกาสต่าง ๆ ได้รับรางวัลกลับมามากมายก็ทำให้รู้สึกภาคภูมิใจ  เห็นว่ากิจกรรมด้านคอมพิวเตอร์จะบังเกิดผลกับนักเรียนโดยตรง จึงทุ่มเทให้เต็มที่ ถือว่าเป็นการแทนคุณแผ่นดินเกิด”   ครูฉัตรชัย กล่าว
                    สำหรับผลงานที่ผ่านมา ครูฉัตรชัยเป็นที่ปรึกษาให้กับนักเรียนที่เข้าแข่งขันหุ่นยนต์ แข่งขันโครงงานต่าง ๆ จนได้รับรางวัลทั้งระดับจังหวัด ระดับภาค และระดับประเทศหลายครั้งหลายหน ในขณะเดียวกันครูฉัตรชัยก็ได้รับรางวัลข้าราชการตัวอย่างระดับอำเภอ รางวัลครูผู้สอนซึ่งมีผลงานดีเด่น (Best Practice) แต่ถึงจะใช้ชีวิตกับสิ่งของไฮเทค แต่ก็อยู่อย่างสมถะ ซึ่งครูฉัตรชัยย้ำว่าไม่ได้ยึดติดกับลาภยศ หรือรางวัล แต่สิ่งที่นับว่าภาคภูมิใจที่สุดคือการได้เห็นนักเรียนประสบความสำเร็จมากกว่า ผลจากความทุ่มเทของคุณครูท่านนี้ ส่งผลให้นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งเป็นผลผลิตจากการจุดประกายให้มีใจรักด้านการเขียนโปรแกรมต่อยอดการเรียนรู้ในระดับที่สูงยิ่งขึ้นไป โดยเข้าศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์  วิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์  และคอมพิวเตอร์ศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาต่าง ๆ ซึ่งลูกศิษย์บางส่วนเหล่านี้ก็ได้กลับมาที่โรงเรียนเพื่อเป็นพี่เลี้ยงส่งต่อความรู้จากรุ่นพี่สู่รุ่นน้องอีกด้วย.
                                                                                                                    สินีนาฎ ทาบึงกาฬ
 
แหล่งที่มา :: http://www.dailynews.co.th/education/185792

ข้อเสียในการใช้งาน Blog

ข้อเสียในการใช้งาน Blog

  1. บล็อกเกอร์มีอิสระในการนำเสนอ โดยไม่ต้องมีการตรวจสอบจากใครก่อน อาจโพสเรื่องที่ไม่เหมาะสม เรื่องที่หมิ่นเหม่ หรือ เข้าข่ายผิดกฎหมาย ผิดประเพณีและศีลธรรมอันดีได้ จึงต้องมีกติกาให้ตัวเอง หรือใช้จริยธรรมของแต่บุคคล ความมีเหตุมีผล ความระมัดระวัง รอบคอบ ของบล็อกเกอร์มากำกับไว้เอง
  2. ผู้ให้บริการบล็อก ไม่สามารถกลั่นกรองเนื้อหาได้ 100% เว้นแต่จะสร้างระบบกรองคำหยาบ คำต้องห้ามไว้เพื่อให้มีการตรวจทานก่อนเผยแพร่ อาจมีความเสี่ยงเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายไปด้วยหากมีบล็อกเกอร์โพสข้อความ รูปภาพ ไม่เหมาะสมแล้วมีการฟ้องร้องขึ้นมา
  3. ในทางปฏิบัติ ผู้ให้บริการบล็อก ไม่สามารถบังคับหรือกำหนดแนวทางให้บล็อกเกอร์นำเสนอได้ แม้จะโปรโมทให้ ok nation เป็นสังคมของ CJ Citizen Jouranalist แต่ก็เป็นที่ยอมรับกันว่า จะไม่สามารถอยู่ได้หากไม่มีบล็อกเกอร์ที่ทำบล็อกในแนวอื่น ซึ่งเปรียบเสมือนมีคอมลัมน์หลากหลายในหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับ จึงน่าจะถือว่า เป็นเรื่องของการสร้างชุมชนที่ดีร่วมกัน
  4. เนื้อหาที่อยู่ในบล็อก หากไม่ใช่ผลงานวิจัย หรือ วิทยานิพนธ์ ที่ทำตามหลักวิชาการ หรือ ตัวบทกฎหมาย ก็อาจมีความน่าเชื่อถือน้อยถึงน้อยมาก
  5. ความน่าเชื่อถือของข้อมูลขึ้นกับความน่า เชื่อถือของบล็อกเกอร์ มากกว่าตัวข้อมูลเอง หากเกิดความผิดพลาดใดๆ ผู้ที่นำข้อมูลไปใช้อ้างอิง อาจประสบปัญหาได้
  6. เปิดโอกาสให้พวกป่วนเข้ามาเปิดบล็อก ก่อกวน
  7. เปิดโอกาสให้ผู้ที่มีความคิดเห็นแตกต่างกัน มาอยู่ร่วมในชุมชนเดียวกัน เพิ่มโอกาสให้มีการแสดงออกถึงการขัดแย้งอย่างไม่มีเหตุผล สร้างความไม่สามัคคี ทะเลาะกันได้ หากไม่ใช้การวางจิตเป็นกลาง ไม่นำเหตุและผลมาโต้แย้งกันโดยสันติ
  8. เปิดโอกาสให้มีการเผยแพร่ กระจายข่าวปั้นแต่ง ข่าวลือ ข่าวลวง ข่าวยั่วยุ
  9. การที่มีบล็อก และเรื่องใหม่ๆมากมายในแต่ละวัน การนำเสนอเรื่องเดิมซ้ำๆกันอาจเกิดขึ้นได้ เช่นการนำ ข้อความจากฟอร์เวิร์ดเมล์ มาโพส เป็นต้น
แหล่งที่มา :: http://weblog4report.wordpress.com/2010/08/14/%e0%b8%82%e0%b9%89%e0%b8%ad%e0%b9%80%e0%b8%aa%e0%b8%b5%e0%b8%a2%e0%b9%83%e0%b8%99%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%83%e0%b8%8a%e0%b9%89%e0%b8%87%e0%b8%b2%e0%b8%99-blog/

ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

         ปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้น ยังมีผลกระทบต่อสังคมในทางลบที่เป็นลูกโซ่ตามมาด้วย ดังตัวอย่างต่อไปนี้คือ 
         ผลกระทบต่อชุมชน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้น ส่งผลให้มนุษย์มีส่วนร่วมในสังคมลดน้อยลง ความรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน มีความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้านหายไป เพราะมนุษย์ทุกคนสามารถพึ่งตนเองได้
        
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้เกิดเทคโนโลยีที่ใช้แรงงานคนน้อยลง ผู้ที่มีทุนมากอาจนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้งานทั้งหมดเป็นธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กหดลงแต่ในทางตรงกันข้ามการที่แต่ละคนสามารถเป็นเจ้าของเทคโนโลยีที่มีขนาดเล็กอาจจะทำให้เขากลายเป็นนายทุนอิสระ หรือรวมตัวเป็นสหกรณ์เจ้าของเทคโนโลยีร่วมกัน และอาจทำให้เกิดองค์กรทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้ 
       ผลกระทบด้านจิตวิทยา ความเจริญทางเทคโนเลยีที่เพิ่มขึ้นในเครื่องมือสื่อสารทำให้มนุษย์มีการติดต่อสื่อสารผ่านทางจออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น จึงทำให้ความสัมพันธ์ของมนุษย์ต้องแบ่งแยกเป็น ความสัมพันธ์อันแท้จริงโดยการสื่อสารกันตัวต่อตัวที่บ้านกับความสัมพันธ์ผ่านจออิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีผลให้ความรู้สึกนึกคิดในความเป็นมนุษย์เปลี่ยนไป 
                ผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีบางตัวมีผล กระทบต่อสภาพแวดล้อมด้วย นอกจากนี้การสร้างเทคโนโลยีการผลิตมากขึ้น มีผลทำให้มีการขุดค้นพลังงานธรรมชาติมาใช้ได้มากขึ้นและเร็วขึ้น เป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติในทางอ้อมและการสร้างโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น โดยปราศจากทิศทางการดูแลที่เหมาะสมจะทำให้สิ่งแวดล้อม อาทิ แม่น้ำ พื้นดิน อากาศ เกิดมลภาวะมากยิ่งขึ้น 
                ผลกระทบทางด้านการศึกษา  นวัตกรรมทางการศึกษามีลักษณะตามธรรมชาติที่เป็นสิ่งใหม่ ดังนั้นในความใหม่จึงอาจทำให้ทั้งครู และผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น นักเทคโนโลยีทางการศึกษา ผู้บริหารการศึกษา อาจตั้งข้อสงสัยและไม่แน่ใจว่า จะมีความพร้อมที่จะนำมาใช้เมื่อใด และเมื่อใช้แล้วจะทำให้เกิดผลสำเร็จมากน้อยอย่างไร แต่นวัตกรรมก็ยังมีเสน่ห์ในการดึงดูดความสนใจ เกิดการตื่นตัว อยากรู้อยากเห็นตามธรรมชาติของมนุษย์ หรือ อาจเกิดผลในเชิงตรงข้าม คือกลัวและไม่กล้าเข้ามาสัมผัสสิ่งใหม่ เพราะเกิดความไม่แน่ใจว่าจะทำให้เกิดความเสียหาย หรือใช้เป็นหรือไม่ ครูในฐานะผู้ใช้นวัตกรรมโดยตรงจึงต้องมีความตื่นตัวและหมั่นติดตามความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีต่างๆ ให้ทันตามความก้าวหน้า และเลือกนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับสถานภาพและสิ่งแวดล้อมของตนเอง การหมั่นศึกษา และติดตามความรู้วิทยาการใหม่ ๆ ให้ทันจะช่วยทำให้การตัดสินใจนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อการศึกษา สามารถทำได้อย่างถูกต้องมีประสิทธิภาพและลดการเสี่ยงและความสั้นเปลืองงบประมาณและเวลาได้มาก

แหล่งที่มา :: http://gilfkaevarity.wordpress.com/